
เทคนิคถ่ายภาพ เทคนิคถ่ายภาพเบื้องต้นสำหรับมือใหม่ นี้ไม่ว่าเราจะเป็นมือใหม่หรือว่าจะเป็นคนที่มีประสบการณ์ถ่ายภาพมาบ้างแล้ว แต่เชื่อว่าทิปส์ทั้ง 7 อย่างนี้จะช่วยปรับปรุงการถ่ายภาพของเราให้ออกมาดีขึ้นแบบง่าย ๆ กันเลยทีเดียว ซึ่งเป็นพื้นฐานหลาย ๆ อย่างที่ทำให้เราเข้าใจเรื่องการถ่ายภาพมากขึ้น
7 เทคนิคถ่ายภาพเบื้องต้นสำหรับมือใหม่
1. กฎสามส่วน หรือ RULE OF THIRD ซึ่งในต่างประเทศใช้ RULE OF THIRD หมายถึงทั้ง กฎสามส่วน และ จุดตัดเก้าช่อง
กฏนี้ช่วยให้เราถ่ายภาพที่น่าสนใจ สะดุดตาได้ โดยกฎสามส่วน และจุดตัดเก้าช่องนี้ เป็นพื้นฐานที่ยังไงก็ต้องสัมผัสและเข้าใจให้ได้ ซึ่งภาพที่ดูน่าสนใจนั้นใช้การจัดองค์ประกอบภาพโดยใช้กฎสามส่วน และจุดตัดเก้าช่องแทบทั้งนั้นเลย ในการใช้ Rule of Third ให้เราจินตนาการถึงเส้นสี่เส้น แนวนอนสอง และแนวตั้งสอง โดยทั้งหมดนี้จะสร้างเป็นตาราง 9 ช่องด้วยกัน
ซึ่งการจัดวางตำแหน่งที่เหมาะสมนั้นก็ตามนั้นเลย ที่เราเรียกจุดตัดเก้าช่องเพราะเราจะวางวัตถุหรือสิ่งที่น่าสนใจไว้ตรงจุดตัดนั่นแหละ ไม่ว่าเราจะถ่ายภาพต้นไม้ ขอบฟ้า ถ้าเราวางจุดสนใจไว้ตรงจุดตัดก็จะทำให้คนดูเพ่งความสนใจไปตรงนั้นนั่นเอง ซึ่งการใช้กฎสามส่วนหรือ Rule of Third นี้ เป็นเรื่องจำเป็นมาก ๆ สำหรับการเริ่มต้นถ่ายภาพให้ดูสมดุลและมีความน่าสนใจครับ
หากอยากจะลงลึกกว่านี้เรื่องการใช้ กฎสามส่วน และจุดตัดเก้าช่อง สามารถอ่านเพิ่มได้จากทั้งสอบบทความนี้ครับ
2. หลีกเลี่ยงการที่ทำให้กล้องสั่นไหว การทำให้เกิดภาพเบลอ (ควรเข้าใจด้วยว่าทำไมภาพนี้ถึงชัด ภาพนี้ถึงเบลอ เกิดจากอะไร?)
กล้องสั่นหรือเบลอ เป็นสิ่งที่คนถ่ายรูปไม่ว่าจะเริ่มต้นหรือมีประสบการณ์แล้วต้องเซ็งแน่ ๆ แต่สำหรับมือใหม่นี่คือวิธีที่หลีกเลี่ยงเรื่องการสั่นไหวของกล้องหรือเบลอได้ครับ
ขั้นแรก เราก็ต้องเรียนรู้การถือกล้องอย่างถูกต้อง (เบสิกสุด) ใช้มือทั้งสองข้างถือกล้องไว้ ด้านขวาจับที่กล้องและ Grip ให้กระขับมือ ส่วนมือซ้ายประคองเลนส์ไว้ อันนี้พื้นฐานหลายคนก็รู้แล้วแหละ แต่ก็ยังมีอีกเรื่องนึง
การถ่ายภาพด้วยการถือกับมือเปล่า ๆ ควรตรวจสอบว่าเราใช้ความเร็วชัตเตอร์ที่เหมาะสมกับทางยาวโฟกัสของเลนส์เราไหม หากความเร็วชัตเตอร์ของเราช้าเกินไป การเคลื่อนไหวที่เกิดขึ้นไม่ว่าจะเป็นตัวกล้องเอง หรือมือเรา มันก็จะทำให้ภาพออกมาเบลอ กฎง่าย ๆ ที่ไม่ควรลืมคือ ถ้าจะถือด้วยมือเปล่าอย่าใช้ความเร็วชัตเตอร์ที่ต่ำกว่าทางยาวโฟกัสครับ
ดังนั้นถ้าเราใช้เลนส์ระยะ 100mm ความเร็วชัตเตอร์เราก็ไม่ควรจะต่ำกว่า 1/100 ครับ ในกรณีที่ถือกับมืออะนะ เว้นแต่ว่ากล้องจะมีระบบชดเชยกันสั่นที่ดี หรือใช้ถ่ายภาพกับขาตั้ง ก็สามารถชดเชยตรงนี้ได้ แต่ในประเด็นนี้ให้เข้าใจก่อนว่า ความเร็วชัตเตอร์ไม่ควรน้อยกว่าทางยาวโฟกัสครับ
3. ทำการบ้านเรื่อง EXPOSURE TRIANGLE ความสัมพันธ์ของสามค่า SHUTTER SPEED – ISO – APERTURE
เพื่อให้ภาพถ่ายของเราได้ค่าแสงที่โอเคที่สุด ตรงตามความต้องการที่สุด เราควรจะเข้าใจเรื่องความสัมพันธ์ของค่าแสง หรือ Exposure Triangle จะมีสามค่าด้วยกันคือ Aperture หรือ รูรับแสง, Shutter Speed หรือ ความเร็วชัตเตอร์ และ ISO หรือค่าความไวแสง
นอกจากนี้เรายังจำเป็นต้องทำความเข้าใจเกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างการควบคุมทั้งสามค่านี้ เมื่อเราปรับตัวเลือกเหล่านี้สักตัว เราก็ต้องเข้าใจว่ามันจะกระทบอะไรกับภาพถ่ายของเรา หรือกระทบกับค่าอื่น ๆ ที่เหลือหรือเปล่า
ดังนั้นเรื่อง Exposure Triangle เลยเป็นเรื่องที่สำคัญมาก ๆ ดังนั้นถ้าหากว่าเราอยากจะอ่านเพิ่มเติมเรื่องนี้ผมทำไว้เรียบร้อยแล้วครับ
4. ใช้ POLARIZE FILTER หรือฟิลเตอร์สำหรับตัดแสงสะท้อน
ฟิลเตอร์สำหรับตัดแสงสะท้อนหรือว่า PL Filter จะทำให้ภาพของเราลดการสะท้อนจากโลหะและแก้วลง แล้วยังเพิ่มสีสันให้กับท้องฟ้า ทำให้ภาพของเราดูมีสีสันและมีมิติมากขึ้น สำหรับคนที่ไม่เคยใช้ผมแนะนำลองหามาใช้ดูครับ รับรองว่าภาพที่ได้ โทนสี รายละเอียดภาพที่เคยหายไปเพราะแสงสะท้อน จะกลับมา และทำให้ภาพของเรามีรายละเอียดที่เยอะมากขึ้น
5. ถ่ายภาพให้เห็นความชัดของฉากหลัง สื่อถึงมิติที่ลึกลงไป โดยเฉพาะการถ่ายภาพวิวกับคน
เมื่อเราถ่ายภาพทิวทัศน์ (ภาพวิวนั่นแหละ) เรามักจะให้รายละเอียดกับความคมชัดทั้งภาพ การใช้เลนส์มุมกว้างสำหรับเก็บรายละเอียดกว้างมาก ๆ เข้าไปในภาพก็เป็นเรื่องที่เหมาะเหมือนกันที่จะให้ภาพเราเห็นถึงความลึกของภาพ หรือถ้าเราไม่มีก็เลือกใช้รูรับแสงที่แคบหน่อยเพื่อที่จะให้ระยะชัดครอบคลุมทั่วทั้งภาพ ถ้าหากว่าแสงเข้ากล้องน้อยเกินไป (หากถ่ายช่วยแสงน้อย และใช้รูรับแสงแคบ) ก็ควรมีขาตั้งด้วยครับ
6. เลือกใช้พื้นหลังแบบง่าย ๆ
วิธีง่าย ๆ ในการถ่ายภาพที่เหมาะกับมือใหม่คือ ต้องคิดก่อนว่าเราควรจะใส่อะไรเข้าไปในภาพ โดยที่ไม่ทำให้ภาพเกิดความสับสนของเนื้อหาในภาพ
ถ้าเป็นไปได้แรก ๆ ให้เลือกใช้พื้นหลังแบบธรรมดา ๆ เลย ธรรมดายังไงล่ะ ก็คือสีพื้นหลังที่ดูเรียบ ๆ ไม่มีรายละเอียดมากวนมาก เพื่อช่วยให้คนหรือแบบในภาพเด่นชัดขึ้น โดยเฉพาะดวงตา ทำให้คนดูมองไปที่ตัวแบบแทนที่จะดูฉากหลังแปลก ๆ ที่โดดเด่นแบ่งตัวแบบนั่นเอง แล้วก็เป็นไอเดียที่ง่ายซึ่งเหมาะกับมือใหม่ที่อาจจะจัดองค์ประกอบที่ซับซ้อนยังไม่ถนัดนักครับ
7. อย่าเพิ่งรีบใช้แฟลช ให้ลองตั้งค่าถ่ายแบบไม่ต้องใช้แฟลชก่อนก็ได้ (ลองอ่านเหตุผลดู)
แฟลชแม้ว่าจะสามารถเปิดรายละเอียดของส่วนมืดได้ (ถ้าหากว่าแสงแฟลชไปถึงและใช้อย่างเหมาะสม) แต่ว่าการถ่ายภาพในการอาคารร่วมกับการใช้แฟลชสำหรับมือใหม่ที่ยังไม่เคยฝึกการใช้แฟลชอย่างจริง ๆ จัง ๆ แฟลชอาจจะสร้างปัญหาให้เราได้ ทั้งวิธีการถ่าย การเบาซ์แฟลช เป็นต้น แล้วทำไงล่ะ ง่าย ๆ คือยังไม่ต้องใช้ครับ
การถ่ายภาพในอาคารด้วยแสงธรรมชาติมันก็สวยนะ แล้วจัดการได้ง่าย วิธีการคือแรก ๆ ให้เราใช้รูรับแสงกล้องที่กว้างที่สุดก่อน จากนั้นเลือกใช้ความเร็วชัตเตอร์ที่สัมพันธ์กับเลนส์ครับ แล้วก็เพิ่ม ISO ให้เหมาะสม
อาจจะต้องดัน ISO บ้างเพื่อให้กล้องไวต่อแสงมากขึ้น แต่ก็เป็นเรื่องง่ายที่สุดสำหรับมือใหม่ แค่นี้เราก็ถ่ายภาพได้เลยโดยที่ไม่ต้องใช้แฟลชครับ (เว้นแต่โจทย์เราต้องการจะใช้แฟลชจริง ๆ จัง ๆ อันนั้นอีกเรื่องนึงละ)
นอกจากนี้ถ้าหากว่ากล้องเรามีระบบกันสั่นจะช่วยให้เราใช้ความเร็วชัตเตอร์ที่ต่ำกว่าทางยาวโฟกัสได้บ้าง ซึ่งนั่นก็แล้วแต่ครับว่ากล้องแต่ะละตัวชดเชยระบบกันสั่นได้แค่ไหน